ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - โรม (คาปิโตลิเน และ ดอเรียแปมฟิลจ์) ของ ยอห์นผู้ให้บัพติศมา (การาวัจโจ)

ยอห์นผู้ให้บัพติศมา หรือ ชายหนุ่มกับลูกแพะ
ศิลปินการาวัจโจ
ปีค.ศ. 1602
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน
ชัยชนะของความรัก” โดย การาวัจโจ ราว ค.ศ. 1602

ภาพนี้รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ชายหนุ่มกับลูกแพะ” มีด้วยกันสองภาพที่เกือบจะเหมือนกันทุกอย่าง และเชื่อกันว่าทั้งสองภาพเขียนโดยการาวัจโจ ภาพหนึ่งตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเนในกรุงโรม และอีกภาพหนึ่งที่หอศิลป์ดอเรียแปมฟิลจ์ (Galleria Doria Pamphilj)

ในปี ค.ศ. 1602 ภาพเขียนคิวปิดของการาวัจโจหรือที่รู้จักกันว่า “ชัยชนะของความรัก” (Amor Vincit Omnia) ที่เขียนให้นายธนาคารและผู้อุปถัมภ์วินเชนโซ จุสตินิอานิสร้างความร่ำลือในบรรดาคอนักสะสมศิลปะผู้ร่ำรวยในกรุงโรม ในปีเดียวกันนั้นซิริอาโค มัตเตอิผู้เป็นนายธนาคารเช่นกันผู้ที่พี่ชายเป็นเพื่อนกับการาวัจโจก่อนที่จะมีชื่อเสียงก็ว่าจ้างให้เขียนภาพยอห์นผู้ให้บัพติศมา อาจจะเป็นได้ว่ามัตเตอิมิได้เป็นผู้ว่าจ้าง แต่เรื่องราวฟังแล้วอาจจะเป็นไปได้แต่ไม่หลักฐานสนับสนุน ในการเขียนภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” การาวัจโจใช้ผู้เป็นแบบคนเดียวกันกับภาพ “ความรัก”

เสน่ห์อันไม่สิ้นสุดของภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” อยู่ตรงความอ่อนโยนของแสงที่เลียผิวผ้า, เนื้อ และพรรณไม้ในภาพ บุคคลในภาพบอกได้ว่าเป็นนักบุญยอห์นจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพที่ได้แก่ ลูกแกะ (ผู้เสียสละ) และใบองุ่นที่เป็นพรรณไม้ที่นำผลมาทำน้ำองุ่นที่ละม้ายพระโลหิตของพระเยซู หรือเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดของชีวิต นอกไปจากนั้นก็ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกไปจากการเป็นภาพของชายหนุ่มเปลือยที่มีสีหน้าเหมือนจะเยาะ (ironic) หรืออาจจะเป็นนัยยะ (allusive) ก็เป็นได้

ความกำกวมของภาพสร้างความฉงนให้แก่ผู้ดูมาเป็นเวลาหลายชั่วคน ราวปี ค.ศ. 1620 กล่าวกันว่าเป็นภาพเด็กเลี้ยงแกะชาวฟริเจีย ในปี ค.ศ. 1624 ภาพนี้ก็ตกไปเป็นของผู้อุปถัมภ์คนสำคัญคนแรกคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต รายการสำรวจทรัพย์สินที่ทำหลังจากเดล มอนเตเสียชีวิตไปแล้วระบุว่าเป็น ภาพ “โคริดอน” (Corydon) ซึ่งเป็นเด็กเลี้ยงแกะในตำนานโบราณ และแม้ในปัจจุบันก็ยังมีการพยายามที่จะตีความหมายว่าเป็น “ไอแซ็คหัวเราะ” - ไอแซ็คเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกแกะ จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดก็พบว่าเด็กหนุ่มในภาพนั่งอยู่บนกองขอนไม้ซึ่งเป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับไอแซ็คและไม่ใช่ยอห์นผู้ให้บัพติศมา

“อิญูดิ” โดย ไมเคิล แอนเจโล ราว ค.ศ. 1508-1512 ภายในชาเปลซิสติน, โรม“ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ราว ค.ศ. 1602 หอศิลป์ดอเรียแปมฟิลจ์, โรม

ภาพนี้เป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากภาพ “อิญูดิ” (Ignudi) บนเพดานชาเปลซิสตินโดยไมเคิล แอนเจโล ขณะที่รูปของแอนเจโลเป็นรูปที่เป็นนามธรรมและเป็นภาพแบบอุดมคติโดยใช้แสงที่เย็นและความยืดหยุ่น (plasticism) ตามทฤษฎี รูปของการาวัจโจเป็นภาพที่ผู้เขียนแสดงความมีเลือดเนื้อที่ทำให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ

ผู้เป็นแบบของ “ชัยชนะของความรัก” เป็นเด็กรับใช้ของการาวัจโจหรืออาจจะเป็นลูกศิษย์ชื่อ “เช็คโค” ซึ่งอาจจะเป็นคนคนเดียวกับจิตรกรเช็คโค เดล การาวัจโจผู้ทำงานอยู่ในโรมราวระหว่างปี ค.ศ. 1610 ถึงปี ค.ศ. 1625 สิ่งที่น่าสนใจในการเป็นแบบในภาพ “ความรัก” คือผู้เป็นแบบมีความลุกลนและมีความสุขในการเป็นแบบอย่างเห็นได้ชัดที่ทำให้ภาพเขียนกลายเป็นภาพเหมือนของ “เช็คโค” แทนที่จะเป็นภาพของเทพ ความรู้สึกเช่นเดียวกันนั้นก็เกิดในภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ที่ทำให้รู้สึกว่าผู้เป็นแบบมีชีวิตจิตใจอย่างออกนอกหน้า

ในภาพนี้นักบุญยอห์นนั่งเอนตัวโดยมีแขนข้างหนึ่งโอบรอบคอแพะ หันหน้ามาทางผู้ชมด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้มอย่างเจ้าเล่ห์ ภาพนี้แทบจะไม่มีสิ่งใดที่เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญที่ใช้ชีวิตในทะเลทราย - ไม่มีกางเขน, ไม่มีขนอูฐ, ไม่มีเข็มขัด จะมีก็แต่เพียงเศษขนอูฐในรอยพับบนผืนผ้าชิ้นใหญ่และลูกแพะ และลูกแพะในภาพก็มิใช่ลูกแกะเช่นที่เขียนกันมา ที่เป็นสัญลักษณ์ของ “แกะของพระเจ้า” (Lamb of God) ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูผู้ทรงมาเป็นผู้ไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ ตามธรรมเนียมแล้วแพะเป็นสัญลักษณ์ของความไคร่พอกับการเป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละ แต่ชายหนุ่มที่ยิ้มเยาะในภาพมิได้แสดงความรู้สึกว่าเป็นการบาปแต่อย่างใด นักเขียนชีวประวัติบางคนพยายามสร้างภาพพจน์ของการาวัจโจว่าเป็นผู้มีความเคร่งครัดทางศาสนาของยุคการปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก แต่เช็คโคแบ็พทิสต์ในรูปนี้เท่านั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงผู้นอกศาสนาในรูปของคิวปิดเกิดใหม่เท่านั้น

“ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ของมัตเตอิกลายเป็นที่ร่ำลือและนิยมกันมาก - เท่าที่ทราบมีด้วยกันสิบเอ็ดก็อปปีรวมทั้งภาพหนึ่งที่เขียนโดยการาวัจโจเอง ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์ดอเรียแปมฟิลจ์ในกรุงโรม ผู้ที่สั่งงานเขียนนี้ก็คงทราบว่าเป็นภาพเขียนที่มีอิทธิพลจากงานเขียนของไมเคิล แอนเจโลในชาเปลซิสติน แต่จุดประสงค์ของการเขียนไมเคิล แอนเจโลของรูปชายเปลือยขนาดใหญ่นี้ก็ยังคลุมเครือ บางคนก็กล่าวว่าเป็นภาพของเทวดา บ้างก็กล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของความงามของมนุษย์ แต่สำหรับการาวัจโจแล้วการวางท่าเช่นที่ว่าของผู้ช่วยเหมือนเป็นการชวนขันของผู้ที่เป็นที่น่านับถือเช่นไมเคิล แอนเจโล

“ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ราว ค.ศ. 1518 โดยราฟาเอล - ผู้มาเขียนก่อนภาพเดียวกันของการาวัจโจ

ระหว่างปี ค.ศ. 1601 ถึงปี ค.ศ. 1602 การาวัจโจเขียนภาพอยู่ในวังของมัตเตอิและได้รับงานจ้างมากมายจากผู้มีฐานะดีหลังจากได้รับความสำเร็จจากการเขียนภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” และภาพ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” สำหรับชาเปลคอนทราเรลลิ ช่วงนี้เป็นช่วงที่การาวัจโจได้รับงานจ้างมากที่สุด มัตเตอิบันทึกค่าจ้างที่ได้รับสองครั้งสำหรับการาวัจโจในเดือนกรกฎาคมและเดือนธันวาคมที่แสดงเวลาเริ่มเขียนและเวลาเขียนเสร็จของภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ดั้งเดิม ค่าจ้างที่ได้รับเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเพราะเป็นรูปคนคนเดียวในภาพ ในเดือนมกราคมในปีเดียวกันการาวัจโจก็ได้รับค่าจ้างจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบสคูดิสำหรับ “พระกระยาหารค่ำที่เอ็มมัส” ต่อมาก็เป็นภาพ “ความกังขาของนักบุญทอมัส” ของวินเชนโซ จุสตินิอานิ และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1603 มัตเตอิก็จ่ายเงินอีกหนึ่งร้อยยี่สิบห้าสคูดิสำหรับ “พระเยซูถูกจับ” ภาพเขียนแต่ละภาพก็ยิ่งเพิ่มความมีชื่อเสียงให้แก่การาวัจโจในบรรดานักสะสม ภาพ “พระกระยาหารค่ำ” ยังคงเหลืออยู่กว่ายี่สิบก็อปปีให้เห็น และ “พระเยซูถูกจับ” ก็ยิ่งมากกว่านั้น

แม้ว่าจะได้รับความสำเร็จและมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวงแต่การาวัจโจก็ยังไม่ได้รับงานจ้างจากสถาบันศาสนาหรือลัทธินิกายใดใด งานเขียนภายในชาเปลคอนทราเรลลิเป็นงานจ้างส่วนบุคคลแม้ว่าผู้รับงานจะเป็นนักบวชของวัดก็ตาม ปัญหาของการาวัจโจอยู่ที่ความเป็นอนุรักษนิยมของสถาบันที่แม้ว่าจะเป็นสถาบันของการปฏิรูปก็ตาม ถึงกับจะมีขบวนการในการสร้างดัชนีรายการรูปต้องห้าม คาร์ดินัลผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูงบางคนก็พิมพ์คู่มือสำหรับการพิจารณาจิตรกรรม โดยเฉพาะสำหรับนักบวชผู้มีหน้าที่รับงานศิลปะเพื่อใช้เป็นแนวทางในการรับหรือปฏิเสธงาน ฉะนั้นงานกึ่งนอกศาสนาของการาวัจโจเช่น “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” และเกี่ยวโยงกับงานแบบมนุษยนิยมและเรอเนสซองซ์ที่เลิกนิยมกันไปแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าเป็นงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการของสถาบันศาสนา

ใกล้เคียง